Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...

2013/03/30

Chicken Farm Bakers' Project # 47 : Ginger-Black Sesame Ice Cream, An Asian Combination



เป็นที่ปลาบปลื้มยิ่งนักที่บล็อคนี้ก็รอดพ้นจากการถูกดองเป็นมัมมี่เสียที หลังจากเก็บตัวงดออกสื่อเป็นเวลานานด้วยความขี้กียจของเจ้าของบล็อค แต่ไม่ได้หมายความว่าตลอดเวลาเก็บตัว นักกีฬาจะไม่ได้ลงสนามซ้อมนะจะบอกให้ ยังคงฝึกปรือวิทยายุทธให้แก่กล้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ไม่มีอาการตกประหม่าเวลาเกิดมีการประลองแบบฉุกละหุกขึ้น (ช่างเป็นการออกตัวที่น่าฟัง น่ารัก และน่าเอ็นดู จริงๆ พับผ่าซิเนอะเคอะ) และแล้วเทวดาบนฟ้าก็เข้าข้าง ประทานการบ้านทดสอบความฟิตมาให้ สุดแสนจะไฉไลรับซัมเมอร์ที่ร้อนระอุ ที่อุณหภูมิภายใต้แสงแดดปะทุเกือบจะครึ่งร้อยอยู่ร่อมร่อ ไม่ต้องเสียเวลาทายก็จะบอก โจทย์การบ้านที่ว่าจะเป็นอย่างอื่นไปเสียมิได้ นอกจากอาหารทิพย์ดับร้อนยอดฮิต "ไอศครีม" นั่นเอง

โอ้วววว ตื่นเต๊น ตื่นเต้น คุณครูกำหนดเส้นตายวันส่งชิมเมื่อกลางอาทิตย์ แต่เดี๋ยวก่อนครับพี่น้อง จะให้เพื่อนสมาชิกรู้ว่าเราตั้งหน้าตั้งตารอคอย และสุดแสนจะคิดถึง กระหายใคร่จะทำการบ้านแบบสุดๆ ไม่ได้ เด๋ยวเสียฟอร์มแย่ ต้องถ่วงเวลานิดนึงไม่ให้เสียเหลี่ยม ปล่อยออกสู่สายตาผู้ชมสิ้นอาทิตย์ก็แล้วกัน จะได้ดูดี (ข้ออ้างสำหรับคนที่ส่งช้าเพื่อให้ดูไม่น่าเกลียดเกินไปนัก ว่างั้น)
สมาชิกคนอื่นๆ ของฟาร์มเริ่มทะยอยแปะงานส่ง เมียงของคนนู้น มองของคนนี้ ทำเอาฝ่อไปหมด ก็ของแต่ละคน มั่นใจได้เลยว่าเป๊ะทั้งรูป เริ่ดทั้งรสแน่นอน แต่ไม่เป็นไรของเราแหวกตลาดซะอย่าง เอาความสยองเข้าข่มแล้วกัน การันตีได้ว่าเกิด ทีนี้ก็เหลือแต่จัดการกับวัตถุดิบที่มีก็พอ
ไอ้ที่ว่าแหวกและสยองนั้นเพราะใจคิดว่าจะเปลี่ยนเอาของว่างที่ผู้คนเค้าเคยชินว่าต้องกินร้อนมาเป็นตรงกันข้ามแบบสุดขั้วคือกินแบบเย็นจนเป็นน้ำแข็ง แถมส่วนมากยังกินตอนย่ำค่ำแต่กลับเอามาร่ำกินตอนแดดเปรี้ยงซะงั้น ของว่างนั้นก็คือ " บัวลอยงาดำน้ำขิง" นี่เอง งาที่จะใช้ครั้งนี้ไม่ใช่งาดำเม็ดรีๆ ที่พบเจอกันดาษดื่น แต่เป็นงาดำของพื้นถิ่นของทางภาคเหนือ ที่เรียกกันว่า "งาม้อน" หรือ "งาขี้ม้อน" หรือจะเป็น "งาขี้ม่อน" แล้วแต่สำเนียงของใคร ออกเสียงได้หลายแบบไฮโซไม่ต่างกับขนมฝรั่งเศสที่กำลังอยู่ในชาร์ตอย่าง มาคารอง มาคาฮอง หรือ มาคาฮง ยังไงยังงั้น


งาชนิดนี้หากินได้ในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น แต่ใครมีเยอะตากไว้ให้แห้งแล้วเก็บใส่ภาชนะปิดเข้าตู้เย็น เก็บไว้กินแรมปี จะกินทีคั่วทีก็ยังได้ ส่วนมากแล้วมักจะนำคั่วกับเกลือให้หอม นำมาตำให้ละเอียด แล้วค่อยนำมาคลุกกับข้าเหนียวนึ่งใหม่ๆ ปั้นเป็นก้อนๆ ขนาดตามใจคนกิน อร่อยอย่าบอกใคร ทำให้คิดถึงชีวิตในวัยเด็กเป็นที่สุด เม็ดของงากลมๆ มองผาดๆ คล้ายกับเม็ดป๊อปปี้ แต่มีความหอมอ่อนๆ ไม่แรงเท่างาดำ (ของสิ่งนี้ได้รับเป็นของกำนัลมาจากคุณนายแม่จากบ้านนอก กันลูกสาวจะลืมกำพืดเดิมนั่นเอง) กวาดสายตากลับขึ้นไปอ่านชักเยอะ เดี๋ยวคนติดตามอ่านบล็อคจะพาลคิดว่าอ่านบทความแล้วเลิกติดตามไป เข้าเรื่องต่อดีกว่า วัตถุดิบอันต่อไปที่ต้องเสียเวลาเตรียมล่วงหน้าถึงหนึ่งคืน นั่นก็คือ ขิงเชื่อม เลือกใช้ขิงแก่เพราะรสชาดจะได้จัดจ้าน แล้วก็ไม่ผิดหวัง ทั้งเผ็ดทั้งร้อน สมใจนึกจริงๆ


พิรี้พิไรมากไปไม่ดี เริ่มจัดการทำดีกว่าเดี๋ยวจะแป๊กอีก เพราะตัวขี้เกียจมากวักมือเรียกหยอยๆ แล้ว หนึ่ง สอง สาม ตามมาเร็วจี๋เลยค่า

ขิงเชื่อม
ขิงแก่                       100 กรัม
น้ำตาลทราย                2 ถ้วยตวง
น้ำสะอาด                     1 ถ้วยตวง
น้ำมะนาว                      1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำ
นำน้ำ และ น้ำตาลทราย ใส่ลงในหม้อเคลือบ ตั้งไฟกลาง
จัดการปอกเปลือกขิง แล้วฝานเป็นชิ้นบางๆ ใส่ลงในหม้อน้ำเชื่อม ใส่น้ำมะนาวลงไป พอน้ำเชื่อมเดือดลดไฟลงให้เหลือเป็นไฟอ่อน เคี่ยวจนปริมาณน้ำเชื่อมลดลงเหลือครึ่งนึงจากเริ่มต้น
ตักเอาชิ้นขิงขึ้นมาสะเด็ดน้ำเชื่อมผึ่งบนตะแกรง ผึ่งทิ้งไว้หนึ่งคืน ส่วนของน้ำเชื่อมขิงเก็บไว้ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับทำไอศครีมต่อ


ไอศรีมงาดำ-ขิง
วิปปิ้งครีม                    2 ถ้วยตวง
ไข่แดง                        4 ฟอง
น้ำเชื่อมขิง               1/4 ถ้วยตวง
งาดำคั่วป่น               1/2 ถ้วยตวง
ขิงเชื่อมหั่นฝอย       1/2 ถ้วยตวง
เกลือ                        1/2 ช้อนชา
วิธีทำ
นำไข่แดง เกลือ และน้ำเชื่อมขิง ใส่ลงในชามผสม ใช้เครื่องตีแบบมือถือตีจนเป็นครีมข้น ใส่งาคั่วป่นลงไปตีให้เข้ากัน ระหว่างนี้ก็อุ่นวิปปิ้งครีมให้ร้อนบนเตา โดยไม่ถึงกับให้เดือด แค่ให้มีฟองปุดๆ ตรงรอบริมหม้อก็พอ
พอครีมร้อนได้ที่ค่อยๆ รินลงในชามไข่จนหมดโดยที่ยังไม่หยุดเครื่องตี  จากนั้นเทส่วนผสมกลับลงไปในหม้อเคลือบ นำขึ้นตั้งไฟอ่อน ใช้ตะกร้อมือคนเรื่อยๆ ไม่หยุด จนส่วนผสมข้นขึ้น ใช้พลาสติกแรปปิดหน้าหม้อเคลือบ ทิ้งไว้จนเย็นสนิท จากนั้นจึงนำไปปั่นในเครื่องทำไอศครีม
เมื่อปั่นจนไอศครีมจับตัวแข็งได้ที่ ใส่ขิงซอยลงไป ปั่นต่อจนขิงซอยกระจายไปทั่วเนื้อไอศครีมเป็นอันเสร็จ ตักย้ายไอศครีมที่ได้ใส่ลงในภาชนะปิด นำเข้าช่องแช่แข็งทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง หรือข้ามคืนตามสะดวก เพื่อให้เนื้อไอศครีมเชตตัวดีขึั้น ไม่ละลายเยิ้มตามสภาพอากาศที่ร้อนสุดจะทน เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวน


อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะค้า  

1 comment:

Unknown said...
This comment has been removed by the author.